เอกชนชง ก.อุตฯ หนุนตั้งนิคมฯ อุบลพื้นที่ 2.3 พันไร่


2019-07-29 04:32

จำนวนครั้งที่อ่าน : 695

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการและภาคเอกชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 หรืออีสานใต้ ประกอบด้วย อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 5/2561 จังหวัดอุบลราชธานี ว่า เอกชนในพื้นที่ดังกล่าวได้เสนอการขับเคลื่อนพัฒนาอุตสาหกรรม 6 เรื่องที่สำคัญ ได้แก่ 1. การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี ในพื้นที่ตำบลนากระแซง อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี พื้นที่ประมาณ 2,303 ไร่ มูลค่าการพัฒนาโครงการฯ ประมาณ 2,700 ล้านบาท

ภาคเอกชนในพื้นที่อีสานใต้เสนอ “สมชาย หาญหิรัญ” ดัน 6 ข้อเร่งพัฒนาระหว่างลงพื้นที่ ครม.สัญจร ทั้งหนุนรัฐสนับสนุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี พื้นที่ 2.3 พันไร่ ลงทุนประมาณ 2,700 ล้านบาท การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน โครงการ E-San Start Up ปั้นเอสเอ็มอีเกษตรแปรรูปภาคบริการ 4.0

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการและภาคเอกชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 หรืออีสานใต้ ประกอบด้วย อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 5/2561 จังหวัดอุบลราชธานี ว่า เอกชนในพื้นที่ดังกล่าวได้เสนอการขับเคลื่อนพัฒนาอุตสาหกรรม 6 เรื่องที่สำคัญ ได้แก่ 1. การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี ในพื้นที่ตำบลนากระแซง อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี พื้นที่ประมาณ 2,303 ไร่ มูลค่าการพัฒนาโครงการฯ ประมาณ 2,700 ล้านบาท

“อุบลราชธานีมีโครงการรถไฟทางคู่ที่จะก่อสร้างและท่าอากาศยานอุบลราชธานีที่จะช่วยสนับสนุนการขนส่งที่พร้อมจะเชื่อมโยงการค้า 4 ประเทศ ได้แก่ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน คาดว่าจะเกิดมูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 65,000 ล้านบาท และจะสามารถรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร เป็นต้น” นายสมชายกล่าว

2. การจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จ.อุบลราชธานี เพื่อสร้างฐานการผลิตเชื่อมโยงกับอาเซียนและพัฒนาเมืองชายแดน 3. โครงการ E-San Start Up เป็นโมเดลสร้างผู้ประกอบการใหม่ของภาคอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ภาคการค้า และภาคบริการ ให้มีแนวคิดเป็นผู้ประกอบการ 4.0 มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้เริ่มต้นธุรกิจ 0-3 บ่มเพาะธุรกิจผ่านพี่เลี้ยงที่มีธุรกิจชั้นนำคอยช่วยเหลือ เช่น กลุ่ม ปตท. กลุ่มบริษัท SCG บริษัทในเครือสหพัฒน์ บริษัทเดลต้า ธนาคารต่างๆ ฯลฯ ระยะเวลา 4 ปี ภายหลังจากสิ้นสุดโครงการคาดว่าจะเกิดมูลค่ายอดขายธุรกิจไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท มีการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 1,000 คน โดยมีศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 เป็นหน่วยบริหารโครงการทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา สภาอุตสาหกรรม หอการค้าจังหวัด และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย

4.โครงการศูนย์กลางนวัตกรรมอาหาร (Pilot Plant) ซึ่งจะทำงานในรูปแบบเครือข่ายร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่มีโรงงานต้นแบบแปรรูปสินค้าด้านการเกษตร มีบริการทางด้านการแปรรูปเนื้อสัตว์ เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง 5. การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจร หรือ BIO HUB ในพื้นที่อีสานใต้ โดยโรงงานอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปในพื้นที่มีความพร้อมในการสร้างมูลค่าเพิ่มต่อยอดผลิตภัณฑ์ไปสู่ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ประกอบกับพื้นที่อีสานใต้มีการทำเกษตรกรรมประมาณ 1.8 ล้านไร่ และมีผลผลิตจากสินค้าเกษตรรวมกว่า 4 ล้านตัน ภาคเอกชนจึงขอรับการสนับสนุนให้เป็นพื้นที่นำร่องส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจร และ 6. การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้และพัฒนาด้านหุ่นยนต์ เพื่อนำหุ่นยนต์มาใช้ในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น

นายสมชายกล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อเสนอทั้ง 6 ข้อที่ภาคเอกชนในพื้นที่อีสานใต้ได้เสนอมาทั้งหมดนั้นจะสรุปและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาขยายผล เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มจังหวัดอีสานใต้

นอกจากนี้ ในช่วงบ่าย นายสมชายยังได้ลงพื้นที่เยี่ยมชม บริษัท อุบลไบโอเอทานอล จำกัด ตำบลนาดี อำเภอนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงงานที่มีความพร้อมในการต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ โดยโรงงงานแห่งนี้มีการทดลองนวัตกรรมที่ได้ร่วมมือกับประเทศฟินแลนด์ ในการผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลัง ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองเครื่อง มีกำลังการผลิต 700 ตันแป้งต่อวัน ใช้มันสำปะหลังสดเป็นวัตถุดิบในการผลิต 2,800 ตันต่อวัน จึงถือว่าโรงงานดังกล่าวมีความพร้อมมากที่จะพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจร ตามมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย พ.ศ. 2561-2570

ด้านนายสันติ กีระนันทน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงพื้นที่ บริษัท อาร์เอสทีโรโบติกส์ จำกัด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ ที่ได้รับสินเชื่อจากกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 10 ล้านบาท โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจะมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการที่ต้องการนำเครื่องจักรและระบบอัตโนมัตินี้ไปใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งสามารถขอกู้ได้รายละ 5 แสนบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 1 นอกจากนี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจะเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านมาตรฐานหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ตามคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเมื่อปลายปี 2560 ที่ผ่านมา

ข้อมูลจาก https://mgronline.com


หอการค้า จังหวัดอุบลราชธานี ก่อตั้งเมื่อ 2529 ทำหน้าที่ เป็นองค์กรภาคเอกชน ที่ให้คำปรึกษาด้านเศรษฐกิจ แก่ภาครัฐ ในรูปแบบ กรอ.จังหวัด และมีหน้าที่ สื่อสาร ส่งข่าว ให้สมาชิก ทราบความเคลื่อนไหว ภาวะข้อมูล เศรษฐกิจ ของ จังหวัดอุบลราชธานี บริหารงาน ด้วย นโยบายการพัฒนา สมัยใหม่ หากต้องการ ข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงาน หอการค้า โทร. 045-243603